GLOBAL TREND

Dopamine Fasting

สุขมากไป สมองไม่ไหว หัวใจไม่ฟู!

Copy to clipboard

7 March, 2024

เทรนด์ของการทำ Intermittent Fasting (การอดอาหารเป็นช่วงๆ เพื่อลดน้ำหนัก) ไม่ได้มีแค่เรื่องของอาหารการกิน แต่การทำฟาสติ้งถูกนำมาใช้กับพฤติกรรมของการเสพติดความสุขที่มากเกินไปจากกิจกรรม “ทันใจ” ต่างๆ จนต้องหันกลับมาสร้างสมดุลปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้ด้วย

ทุกวันนี้สมองของเราถูกกระตุ้นให้หลั่งโดพามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขจากความพึงพอใจแบบเร็ว ในทุกครั้งที่เราเสพโซเชียลมีเดีย หรือจากกิจกรรมทันใจอันหลากหลายที่พวกเราป้อนให้สมองอย่างไม่หยุดหย่อน เกิดเป็นการหลั่งสารแห่งความสุขออกมาระดับสูง จนทำให้สมองเกิดภาวะของการเสพติดความสุขเนื่องจากได้รับสารโดพามีนแบบเร็วแบบสับอยู่อย่างต่อเนื่องทันใจ จะเรียกว่าเราสปอยล์สมองด้วยกิจกรรมที่กระตุ้นการหลั่งของสารโดพามีนแบบถี่ยิบอยู่ตลอดเวลาก็ว่าได้ (นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงติดโซเชียลมีเดียกันเสียเหลือเกิน เหตุก็เพราะว่าเราเสพติดความพึงพอใจจากการได้รับการป้อนข้อมูลในสิ่งที่เราโปรดปราน และถูกจริต ถูกทาง แบบทันทีตลอดเวลา ลามเลยไปถึงความต้องการที่จะได้รับความสนใจจากผู้คนผ่านยอดไลก์ การกดเลิฟ จนทำให้ใจฟูแล้วฟูอีกนั่นด้วย)

การมีความสุขไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด แต่อะไรที่มากไปไม่เคยมีผลดี ประเด็นหลักไม่ได้อยู่ที่การหลั่งของสารโดพามีน แต่อยู่ที่กิจกรรมและพฤติกรรม ที่ทำให้เกิดการหลั่งสารโดพามีนต่างหาก

หนึ่งในหัวใจหลักของงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เราว่าน่าสนใจ คือการหันกลับมาตั้งคำถามถึงความสามารถในการควบคุมตัวเองของเรา ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องพื้นๆ ไม่ได้มีหลักใหญ่ใจความอะไรใหม่ แต่สิ่งนี้กลับสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสมองและจิตใจได้อย่างมหาศาล ความสามารถในการควบคุมตัวเอง ส่งผลต่อวิธีที่สมองจะหลั่งสารโดพามีน ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อความสามารถในการรับมือกับความเจ็บปวดและความไม่ได้ดั่งใจอื่นๆ ในชีวิตด้วยเช่นกัน

วิถีแห่งการทำโดพามีนฟาสติ้ง คือการสร้างสภาวะสมดุลให้สมองด้วยการหยุดกิจกรรม และพฤติกรรมที่ทำให้สมองต้องปล่อยโดพามีนออกมาในระดับสูงอยู่ตลอดเวลาบ้าง เสมือนดั่งการกำหนดเวลาของการทำฟาสติ้งในการกินอาหารที่ไม่ได้บอกให้คุณหยุดกิน แต่บอกให้คุณกินแบบมีระยะเวลาการกินที่น้อยลงนั่นเอง ดังนั้นหากกิจกรรมหรือพฤติกรรมใดที่เมื่อทำแล้วสร้างความพึงพอใจ จนทำให้คุณต้องทำกิจกรรมหรือพฤติกรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งตกอยู่ในสภาวะของการเสพติดอยู่ละก็ การทำโดพามีนฟาสติ้งก็เป็นหนึ่งในวิธีที่คุณจะสามารถพิจารณานำไปปรับใช้ได้

ปัจจุบัน เราใช้คำว่า Social / Digital Detox กันค่อนข้างหนาหู วิธีการนี้เรียกได้ว่าเรางดการเสพติดในกิจกรรมที่เราพึงพอใจอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาที่จะงดใช้โทรศัพท์เพื่อการสันทนาการ การปล่อยให้ตัวเองได้อยู่ในโลก Offline ไม่เชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เน็ต หรือกับบางคนอาจคือการที่ต้องอดใจไม่ซื้อของ งดการดื่มแอลกอฮอล์เป็นพักๆ หรือไม่กินชาบู หมูกระทะ อาหารบุฟเฟต์แบบที่เสิร์ฟไม่อั้นในระยะเวลาหนึ่งบ้าง (ในหนังสือ Dopamine Nation ที่เขียนโดย Dr. Anna Lembke แนะนำว่าให้หยุดไปเลยอย่างน้อย 1 เดือน ในกรณีที่เป็นการเสพติดที่รุนแรง แล้วสมองจะกลับมารีเซ็ตตัวเองในส่วนของ Brain Reward System ซึ่งเป็นระบบการให้รางวัลของสมองได้ใหม่)

อย่างไรก็ตาม การรู้ตัวว่าเรากำลังเสพติดสิ่งใดจะนำไปสู่การวางแผนและการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการควบคุมตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่หนทางที่เราจะสร้างพฤติกรรมใหม่ให้ตัวเองได้อย่างเห็นผลจริง

Photo Credit: pexels.com by Jeffrey Czum ข้อมูลเพิ่มเติม: [www.medicalnewstoday.com/articles/dopamine-fasting และหนังสือ Dopamine Nation โดย Dr. Anna Lembke](www.medicalnewstoday.com/articles/dopamine-fasting และหนังสือ Dopamine Nation โดย Dr. Anna Lembke)

#APThai #APHome #SpaceThinker #GlobalTrend

PRESENTED BY

AP logo