GLOBAL LIVING

The Spirit of Equality

แข่งขันเพื่อสร้างสรรค์ความเท่าเทียม

Copy to clipboard

6 September, 2024

อีกสองวันการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก 2024 ที่ปารีสจะสิ้นสุดลง ก่อนที่จะเดินทางไปถึงการสรุปเหรียญและพิธีปิด เราอยากเล่าสู่กันฟังถึงความเป็นมาของมหกรรมกีฬาเพื่อมวลมนุษยชาติที่สำคัญไม่แพ้โอลิมปิก เพราะมากกว่าการแข่งขันกีฬา พาราลิมปิกยังสื่อถึงการโอบรับความหลากหลายทางภายภาพของผู้คน รวมถึงการค้นพบมหัศจรรย์ของร่างกายที่เกิดจากความมุ่งมั่น พลังใจ และระเบียบวินัยของการฝึกซ้อมต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหลายปี

จุดเริ่มต้นของพาราลิมปิกเกิดขึ้นในปีค.ศ.1948 ที่โรงพยาบาลสโตกแมนเดวิลล์ (Stoke Mandeville Hospital) ประเทศอังกฤษ ด้วยการริเริ่มของดร.ลุดวิก กุทท์มันน์ (Sir Ludwig Guttmann CBE FRS) เพื่อจัดการแข่งขันกีฬาให้แก่ทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บ และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อศักยภาพของร่างกาย แม้อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์

การแข่งขันพาราลิมปิกครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงโรมในค.ศ.1960 เพื่อแสดงความสามารถของนักกีฬาผู้พิการบนเวทีระดับโลก โดยจะมีการจัดแข่งขัน 4 ปีครั้ง ในช่วงแรกพาราลิมปิกจัดแยกจากโอลิมปิก แต่ในค.ศ.1988 การแข่งขันพาราลิมปิกฤดูร้อนที่โซล และการแข่งขันพาราลิมปิกฤดูหนาวที่อัลแบร์วิลล์ (Albertville) ประเทศฝรั่งเศสในค.ศ.1992 ได้กลายเป็นจุดเริ่มของการมีเจ้าภาพร่วมกับโอลิมปิก เพราะทั้งเกาหลีและฝรั่งเศสต่างก็รับหน้าที่เจ้าภาพโอลิมปิกในปีดังกล่าาวเช่นกัน

ในเดือนมิถุนายน 2004 มีการลงนามในข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee - IOC) และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (International Paralympic Committee - IPC) ใจความว่านับตั้งแต่การแข่งขันปักกิ่งเกมส์ 2008 เป็นต้นไป การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกจะจัดขึ้นหลังจากจบการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเสมอ โดยใช้สนามกีฬา สิ่งอำนวยความสะดวก และหมู่บ้านนักกีฬาเดียวกัน รวมทั้งค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จะได้รับการสนับสนุนในระดับเดียวกันกับกีฬาโอลิมปิก เพื่อสื่อถึงความเท่าเทียมของนักกีฬาทั้งสองมหกรรม ดังนั้น ในอนาคตเมืองเจ้าภาพทุกแห่งจะต้องจัดการแข่งขันทั้งกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกต่อเนื่องกัน

พาราลิมปิกได้ปรับมุมมองของสังคมเกี่ยวกับความพิการ โดยการแสดงให้เห็นถึงความอดทนและทักษะยอดเยี่ยมของมนุษย์ ที่เกิดจากการฝึกอย่างหนักหน่วง เกมกีฬาเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการแข่งขันพาราลิมปิก 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ที่กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบก้าวกระโดดต่อการยอมรับคนพิการในประเทศจีน

เกมกีฬาต่างๆ ที่กำลังจะจบลงคือสัญลักษณ์ของการเสริมสร้างพลังกายและใจแก่ผู้พิการ และช่วยกระตุ้นให้พวกเขาได้บรรลุศักยภาพสูงสุด แม้จะมีอุปสรรคทางร่างกาย แต่การเดินทางกว่า 7 ทศวรรษของพาราลิมปิกก็ได้สร้างความตระหนักรู้แก่สังคมโลกว่า เราสามารถหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้แก่กันได้ในทุกบริบทของชีวิต ไม่ใช่แค่เฉพาะในโลกกีฬา เพราะในฐานะมนุษย์ที่ต่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน สิ่งที่ผู้พิการต้องการไม่ใช่ความสงสาร แต่คือสิทธิและโอกาสในการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกับคนปกติในสังคม

#APThai #APHome #SpaceThinker #GlobalLiving

PRESENTED BY

AP logo