GLOBAL TREND
ครอบครัวใหญ่ใต้หลังคาเดียวกัน
19 September, 2024
การเติบโตมาในบ้านหลังเดียวกับปู่ ย่า ตา ยาย ลุงเขย อาสะใภ้ หลานๆ และสมาชิกอีกมากมายในครอบครัวขยาย เป็นวัฒนธรรมที่ชาวเอเชียคุ้นเคยแต่ไหนแต่ไร แม้ปัจจุบันการสร้างครอบครัวเดี่ยวเป็นที่นิยมมากขึ้นในบ้านเรา แต่การอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวใหญ่ก็ยังไม่เสื่อมความนิยม และที่สำคัญการอยู่ร่วมกันระหว่างคนหลายๆ รุ่นภายในครอบครัว (Multigenerational Living) กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั่วโลก
ในสหรัฐอเมริกา จำนวนครัวเรือนแบบมีสมาชิกหลายรุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จากข้อมูลของ Generations United ในปีค.ศ.2011 มีแค่ 7% ของชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในบ้านแบบมีสมาชิกหลายรุ่น แต่ในปีค.ศ.2021 ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 26% ซึ่ง 66% ของกลุ่มคนเหล่านี้บอกว่า สภาพเศรษฐกิจคือปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจอยู่ร่วมกันแบบครอบครัวใหญ่ และภายในปีค.ศ.2030 จะเป็นปีแรกที่สหรัฐอเมริกาจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก ประชากรราว 70 ล้านคนจะเป็นผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์จึงเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดครอบครัวขยายมากขึ้น ส่วนในแอฟริกาใต้มีการประมาณการว่าครัวเรือนขยายจะเพิ่มขึ้น 32% สืบเนื่องจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ ทั้งอัตราดอกเบี้ย การว่างงาน และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การอยู่แบบครอบครัวใหญ่จึงกลายเป็นคำตอบ
เมื่อคนหลายรุ่นมาอยู่รวมกัน การกำหนดบทบาท ความรับผิดชอบ และการถนอมน้ำใจซึ่งกันและกันคือสิ่งสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง รวมทั้งการสื่อสารอย่างชัดเจน และการเคารพความต้องการของแต่ละบุคคลยังเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความแตกต่างของแต่ละวัย ทั้งเรื่องรูปแบบการสื่อสาร ความคาดหวัง และค่านิยม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ การพูดคุยอย่างเปิดเผยและความเต็มใจที่จะประนีประนอมจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการรักษาความสัมพันธ์ เมื่อมีคนมากกว่าสองรุ่นอยู่ในรอบรั้วเดียวกัน
องค์ประกอบทางกายภาพของที่อยู่อาศัย ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความราบรื่นในการดำเนินชีวิตของครัวเรือนขยาย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ภายในบ้านที่ช่วยลดโอกาสการเกิดอันตรายแก่เด็กและผู้สูงอายุ พื้นที่ส่วนตัวที่แบ่งสัดส่วนชัดเจน พื้นที่ใช้สอยส่วนกลางที่ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้คนหลายวัย รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ช่วยจัดการการใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างเกิดประสิทธิผลสูงสุด และส่งเสริมสุขภาวะแก่สมาชิกทุกคนในบ้าน
เมื่อแนวโน้มนี้ขยายไปหลายๆ ที่ทั่วโลก มากกว่าการออกแบบบ้าน คือการออกแบบพื้นที่ชุมชน เพื่อรองรับวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคม ฝั่งยุโรปได้ตระหนักถึงปัจจัยเหล่านี้ และในหลายๆ ชุมชนก็เริ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ก้าวล้ำไปกว่าการอยู่ร่วมชายคาเดียวกันของคนต่างวัย เพราะเป็นการออกแบบหมู่บ้าน หรืออาคารที่แยกการอยู่อาศัยอย่างเป็นสัดส่วน สำหรับคนแต่ละรุ่นในครอบครัว โดยทุกคนยังอยู่ในบริเวณเดียวกัน จึงใกล้ชิดกันเพียงพอที่จะดูแลกัน แต่ก็มีระยะห่างต่อกันมากพอที่จะมอบความรู้สึกสบายใจ และไม่ก้าวล่วงพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน เชื่อว่าแนวคิดการออกแบบพื้นที่สำหรับคนต่างวัย จะกลายเป็นทางออกของการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างวัยในครอบครัวเดียวกัน หรือแม้แต่ต่างครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลายๆ พื้นที่ในโลกได้ทยอยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในทุกสังคม
ข้อมูลอ้างอิง: https://www.trendbible.com/multi-generational-living-new-macro-trend-series https://www.bizcommunity.com/article/multi-generational-living-trends-what-property-owners-should-know-906204a https://www.vox.com/24115808/multigenerational-housing-us-families-personal-finance https://www.hines.com/the-point/multigenerational-multifamily-living-spreads-in-europe#:~:text=In%20Europe%2C%20a%20new%20housing,diverse%20needs%20of%20multiple%20generations
#APThai #APHome #SpaceThinker #GlobalTrend
PRESENTED BY